10 ตุลาคม 2552

ผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโพนทอง

โดย กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโพนทอง จังหวัดชัยภูมิ
ความเป็นมา
กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลระดับท้องถิ่นตำบลโพนทอง เริ่มต้นหลังจากที่สำนักงาน
สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิได้คัดเลือกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลโพนทองเป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานในรูปแบบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น/พื้นที่ เมื่อ ปีงบประมาณ 2549 บนพื้นฐานความเข้าใจตรงกันที่ว่าระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนไม่ใช่งานของหน่วยงานสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานแบบมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการร่วมกัน
เป้าหมาย
เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคนในพื้นที่ โดยส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญ 4ประการ คือ
1. หลักการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกแผนงานโครงการเป็นไปตามความต้องการของประชาชนและเป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชุมชนได้ตรงจุด
2. หลักความเสมอภาค หมายถึง ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
3. หลักความถูกต้อง หมายถึง ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการกำหนด
4. หลักคุณธรรม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพุทธศาสนาในการลดปัญหาคอรัปชั่นและสร้างความโปร่งใสในการทำงานของกองทุน
ข้อมูลทั่วไป
ตำบลโพนทองอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ ประมาณ 5 กิโลเมตร
- หลังคาเรือนจำนวน 3,001 หลังคาเรือน
- ประชากรรวมจำนวน 8,853 คน
คณะกรรมการบริหารจัดการกองทุน
ซึ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ (นครราชสีมา ) ประกอบด้วย 19 คน งบประมาณของกองทุน
1. จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดสรรจำนวน 37.50 บาท ต่อ หัวประชากร
เป็นเงิน 331537.50 บาท
2. จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมทบ ร้อยละ 10 เป็นเงิน 40100 บาท
รวมเงินบริหารจัดการทั้งสิ้น จำนวน 371,637.50 บาท ( สามแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสามสิบเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์ )
การจัดสรรงบประมาณ
แบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
1. หมวดส่งเสริมสนับสนุนหน่วยบริการ ร้อยละ 20 เป็นเงิน 74,332.56 บาท
2. หมวดจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ ร้อยละ 50 เป็นเงิน 185,831.40 บาท
3. หมวดสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ร้อยละ 20 เป็นเงิน 74,332.56 บาท
4. หมวดการบริหารจัดการกองทุน ร้อยละ 10 เป็นเงิน 37,166.28 บาท
แผนงานโครงการที่ดำเนินการ ปีงบประมาณ 2550 จำนวน โครงการ ดังนี้
1.หมวดส่งเสริมสนับสนุนหน่วยบนริการ ได้แก่
โครงการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์สถานีอนามัย
2.หมวดจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ แยกตามกลุ่มอายุ ดังนี้
กลุ่มแม่และเด็ก ได้แก่
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน ได้แก่
โครงการส่งเสริมสุขภาพปาก และเด็ก
โครงการช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากไร้ขาดแคลน
กลุ่มวัยทำงาน ได้แก่
โครงการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป
โครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและเต้านมเชิงรุก
กลุ่มวัยผู้สูงอายุ ได้แก่
โครงการส่งเสริมสุขภาพสายตาผู้สูงอายุ
3. หมวดสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ได้แก่
- โครงการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก สนับสนุนกิจกรรม อสม. 5 เสือ ในการสำรวจลูกน้ำยุงลายประจำเดือน
- โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและฉีดยาคุมกำเนิดสุนัขและแมวร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์
- โครงการนำร่องซ้อมแผนไข้หวัดนกระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่
- โครงการนำร่องพัฒนาภาคีเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพระดับตำบล/หมู่บ้าน โดยใช้เครื่องมือ การจัดการความรู้ มาใช้ในกระบวนการทำงานภายใต้ชื่อโครงการ เข้าค่ายเยาวชนพันธุ์ใหม่
- โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์เบื้องต้นที่เปิดเผยตัวเอง
- โครงการแพทย์ทหารรักประชาชน
- โครงการนำร่องพัฒนาภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชน
- โครงการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยใช้น้ำมันมะพร้าว
4. หมวดการบริหารจัดการกองทุน ใช้ในกิจกรรมดังนี้
- จ่ายค่าวัสดุใช้สอยในการประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการและการจัดทำเอกสารงานวิชาการของกองทุน
- จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการ
- จ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการและกิจการกองทุนของคณะกรรมการ
- จ่ายค่าอาหารว่าง/อาหารกลางวันแก่คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมประจำเดือน
- จ่ายค่าจ้างพนักงานจัดทำการเงินการบัญชี
- ค่าใช้สอยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
ผลงานเด่น
จากผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารกองทุนได้มีมติคัดเลือก
ผลงานเด่น จำนวน 1 โครงการได้แก่
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แรงบันดาลใจ คือ
1. เพื่อส่งเสริมสนันสนุนให้หญิงหลังคลอดได้มีขวัญกำลังใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง
2. สถานีอนามัยทำงานส่งเสริมสุขภาพกลุ่มแม่และเด็กได้ครอบคลุมง่ายขึ้น
3. เพื่อกระตุ้นให้หญิงหลังคลอดเห็นความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
กลุ่มเป้าหมาย
- หญิงหลังคลอที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
กิจกรรม
- ประชาสัมพันธ์หญิงหลังคลอดในพื้นที่สมัครข้าร่วมโครงการ
- เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย รับลงทะเบียนยื่นเอกสาร ตรวจสุขภาพแม่และลูก ให้ความรู้เรื่อง การปฏิบัติตัวหลังคลอดของแม่และประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การประเมินพัฒนาการเด็ก และการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์อายุให้ครอบคลุม
- ติดตามเยี่ยมบ้านโดย อสม.และ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย
- จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรแก่แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด จำนวน 4 เดือนๆละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 1.200 บาท ต่อ คน
ผลงาน
หญิงหลังคลอดสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 15 คน
การประเมินผลโครงการ
- เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยติดตามงานแม่และเด็กได้ครอบคลุมมากขึ้น
- หญิงหลังคลอดมีความพึงพอใจและสมัครเข้าร่วมโครงการเกือบทุกราย
ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา พอสรุปได้ ดังนี้
1. คณะกรรมการบางส่วนยังขาดการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานโครงการ
2. คณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการของกองทุน
3. การประชาสัมพันธ์เชิงรุกในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารและเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานยังทำได้ไม่ชัดเจน
4. การโอนเงินงบประมาณสมทบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความล่าช้าทำให้ความ
ทันเวลาในการดำเนินงานช้าตามไปด้วย
ข้อเสนอแนะ
- การคัดเลือกคณะกรรมการโดยเฉพาะที่มาจากภาคส่วนตัวแทนไม่ว่าจะเป็นจากภาคส่วนตัวแทน สมาชิก อบต. จากส่วนตัวแทน อสม. และจากภาคส่วนตัวแทนประชาชนแต่ละหมู่บ้าน จะต้องได้มาโดย การจัดทำประชาคมสุขภาพร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปได้ด้วยดี
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดประชุมวิชาการแก่คณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนก่อนลงมือทำงานเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน
- การติดตามประเมินผลการดำเนินงานกองทุนในระดับจังหวัดควรนำตัวชี้วัดแต่ละงานมาใช้ในปีต่อไป

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15:01

    เยี่ยมครับ ขอชื่นชม

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15:03

    แล้วประชาชนในพื้นที่ มีสุขภาพดีกว่าเดิมหรือไม่ มีกองทุนกับไม่มีกองทุนแตกต่างกันไหม อยากรู้

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ08:11

    ดีจังครับจะนำข้อมูลไปพูดคุยทางท้องถิ่นที่อำเภอบ้าง
    เผื่อเข้าจะมีแนวทางกว้างยิ่งขึ้น

    ตอบลบ